Monday, October 08, 2007

ทัศนะจากนานาชาติเรื่องความสุข: บทสรุปจากการประชุมเรื่อง ความสุขและนโยบายสาธารณะ (ตอนที่ 3)

โดย กนกพร นิตย์นิธิพฤทธิ์
สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ (สพน.)
สำนักนายกรัฐมนตรี
จากประเด็นที่ว่า “อะไรสามารถนำไปสู่การเพิ่มและพัฒนาของสุขของประชาชน” และ “ทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้ประชาชนมีความสุขได้” ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องหาคำตอบให้ได้ว่า สิ่งที่ได้ทำไปนั้นทำให้ประชาชนเกิดความสุขอย่างแท้จริงหรือไม่ คำถามเหล่านี้ นำมาสู่การศึกษาเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขของประชาชน โดยงานศึกษาที่ได้รับความนิยมในทางตะวันตกส่วนใหญ่จะเป็นการทดสอบโดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐมิติ (Econometrics) มาประกอบการศึกษา อาทิเช่น งานศึกษาของ Richard A. Easterlin และอรณิชา สว่างฟ้า ได้ทำการศึกษาเรื่องความสุขและความพึงพอใจในด้านต่างๆ หรือ “Happiness and Domain Satisfaction” โดยค้นพบว่า ผลการทดสอบการรายงานความสุขที่เป็นอัตวิสัย (Subjective) เช่น ความพึงพอใจด้านการเงิน, ความพึงพอใจด้านสุขภาพ, ความพึงพอใจด้านงาน และความพึงพอใจด้านครอบครัว ไม่ได้มีผลแตกต่างจากการใช้ข้อมูลเชิงวัตถุวิสัย (Objective) ไม่ว่าจะแยกเป็นกลุ่มอายุ เพศ ระดับการศึกษา สถานภาพการสมรส ที่แตกต่างกัน ขณะที่ Bernard Van Den Berg ก็ได้เสนอประเด็นเรื่องสุขภาพและความสุขที่น่าสนใจว่า ในฐานะที่สุขภาพเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานในการมีความสุขของบุคคล ดังนั้น นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพจะมีประโยชน์มากน้อยต่อประชาชน ขึ้นอยู่กับสถานะและลักษณะเฉพาะด้านสุขภาพของประชาชนในแต่ละสังคม

Paul Frijters และ Takayoshi Kusago ได้เสนอแนวคิดที่สอดคล้องกันว่า การใช้นโยบายที่แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นการเพิ่มความสุขของประชาชน แต่ในความเป็นจริงนโยบายเหล่านั้น ก็อาจกระทบปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อให้ความสุขของประชาชนเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ตัวอย่างเช่น การสร้างถนนหนทางที่มากขึ้น แม้จะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และนำมาซึ่งความสะดวกสบาย แต่การเดินทางของประชาชนมากขึ้น ก็ทำให้คนมีชีวิตที่อยู่กับครอบครัวน้อยลงและการไหลเข้าของการเป็นสังคมวัตถุนิยม เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องการมีการศึกษาที่สูง แม้จะเพิ่มโอกาสของความสามารถในการมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ลดเวลาอยู่ร่วมกันในครอบครัวเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ จึงนำไปสู่ข้อเสนอที่ว่า นโยบายสาธารณะควรแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ โดยผู้ออกนโยบาย จำเป็นต้องประเมินว่า ประเด็นใดเป็นประเด็นที่ประชาชนของตนให้ความสำคัญ เพราะในความเป็นจริง แต่ละประเด็น (Domain) และปัจจัย (Factor) ก็อาจจะมีผลทั้งในทิศทางที่เกื้อกูลกัน ขัดแย้งหรือลดทอนความสุขของประชาชนก็เป็นได้

นอกจากนี้ Paul Frijters, Paolo Verme และนักเศรษฐศาสตร์อื่นๆ ยังได้เสนอประเด็นที่ว่า การเพิ่มขึ้นของรายได้ และความมั่งคั่ง ควรเพิ่มในกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เพราะจะทำให้ความสุขรวมของประเทศเพิ่มขึ้นได้มากกว่าการเพิ่มขึ้นของคนที่มีรายได้ปานกลางถึงมาก เนื่องจากอรรถประโยชน์หน่วยสุดท้าย (Marginal Utility) ของคนที่มีรายได้น้อย จะมีมากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Richard Easterlin และ Robert A. Cummins ที่ว่า การเพิ่มขึ้นของรายได้ในสังคมตะวันตก ไม่ได้นำมาซึ่งความสุขที่เพิ่มขึ้นเสมอไป นอกจากนี้ ข้อสรุปยังได้สนับสนุนแนวคิดเรื่องการลดลงของช่องว่างทางรายได้ ที่สอดคล้องกับการให้เหตุผลทางจิตวิทยาที่ว่า ความเท่าเทียมกันของรายได้ จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความสุขทางอัตวิสัย (Subjective well-being) เนื่องจากบุคคลจะไม่รู้สึกแตกต่างกันในสังคม ดังนั้น นโยบายสาธารณะจึงควรให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความเท่าเทียมกันทางรายได้ และปรับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวัน แก้ปัญหาความยากจน รวมทั้งการมีมาตรการที่ลด หรือกระตุ้นความอยากในการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยเกินความเหมาะสม เนื่องจากภายใต้กลไกทางจิตวิทยา เมื่อมีการรับรู้ด้านวัตถุมากเกินไปจะทำให้คนรู้สึก “จน” จากการเปรียบเทียบกับสิ่งที่เห็น และจะกระตุ้นความต้องการของบุคคล จึงทำให้ความสุขของคนลดลงนั่นเอง

ประเด็นการนำเสนอในระดับความร่วมมือของสากลที่น่าสนใจ ได้แก่ การเสนอของ Allister McGregor จาก University of Bath ประเทศอังกฤษ ที่ได้เข้ามาศึกษาวิจัยในประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย McGregor ได้นำเสนอประเด็นของการจัดทำเรื่องความสุขให้เป็นกรอบหนึ่งของนโยบายการพัฒนาระดับนานาชาติ จากเดิมที่เน้นแนวคิดของความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าเป็นหลัก รวมทั้งได้มีการเสนอให้มีการจัดตั้งกระทรวงพัฒนาความสุขอีกด้วย

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลลัพธ์ที่ได้จากงานประชุมสัมมนานานาชาติ เรื่องความสุขและนโยบายสาธารณะในครั้งนี้ โดยภายหลังจากการสรุปรวมรายงานวิจัยเสร็จสิ้น ประเทศไทยคงได้แนวคิดและทิศทางใหม่ รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้เพื่อการพัฒนาประเด็นเรื่องความสุขของประชาชน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่มีผลต่อการสร้างสังคมที่มีความสุขต่อไป

ทัศนะจากนานาชาติเรื่องความสุข: บทสรุปจากการประชุมเรื่อง ความสุขและนโยบายสาธารณะ (ตอนที่ 2)

โดย กนกพร นิตย์นิธิพฤทธิ์
สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ (สพน.)
สำนักนายกรัฐมนตรี
ในปัจจุบัน การศึกษาเรื่องความสุขได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ภายหลังจากการเยือนประเทศไทยของเจ้าชายจิกมี วังชุก มกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน หนึ่งในคำถามที่สำคัญสำหรับประชาชน โดยเฉพาะนักวิชาการ สำหรับเรื่องความสุข ก็คือ “ความสุขคืออะไร และวัดประเมินได้อย่างไร” จากการที่ “ความสุข” เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ยากในการเข้าใจ เพราะมีความจำเพาะเจาะจง และแตกต่างกันตามบุคคล ด้วยเหตุนี้ หลักแนวคิดและการวัดประเมินความสุข จึงค่อนข้างมีความสำคัญต่อกระบวนการศึกษาเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะที่เข้าถึงความสุขของประชาชน ถ้าจะแบ่งแนวคิดเรื่องความสุข เราสามารถแบ่งคร่าวๆ ออกเป็น 2 ขั้วแนวคิด คือ แนวคิดทางตะวันตกและแนวคิดทางตะวันออก

ความแตกต่างของสองขั้วแนวคิดนี้ก็คือ แนวคิดทางตะวันตกจะมีฐานความคิดมาจากหลักบริโภคนิยม (Consumerism) ขณะที่แนวคิดทางตะวันออกจะได้รับอิทธิพลทางหลักปรัชญา ศาสนา และวัฒนธรรม จึงทำให้แนวคิดเรื่องความสุขจากทฤษฎีทางตะวันออก ไม่ได้อิงกับข้อสมมติฐานของการมีความสุข หรือความพึงพอใจในชีวิตจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้น

โดยแนวคิดสำคัญๆ ที่ถูกนำมาใช้กับการศึกษาเรื่องความสุข (Happiness หรือ Subjective well-being), ความอยู่เย็นเป็นสุข หรือกินดีอยู่ดี (Well-being) ได้แก่ แนวคิดโอกาสในการสร้างความสามารถ หรือ Capability Approach ของ Amartaya Sen ที่ได้อธิบายความสามารถว่าเป็นปัจจัยสำคัญของมนุษย์ที่จะแปรเปลี่ยนเป็นรายได้ หรือการถือครองทรัพย์สิน แต่อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ ประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 2 องค์ประกอบคือ การปฏิบัติภารกิจ (Functioning) และความสามารถ (Capability) โดยทั้งสองปัจจัยจะต้องเกื้อกูลกัน ตัวอย่างเช่น การที่บุคคลมีรายได้สูง หรือมีความสามารถในการเข้าถึงโอกาสการมีรายได้ที่มาก หากแต่ก็มีแนวโน้มของการเจ็บปวด หรือการพิการในชีวิต หรือก็คือการมีแนวโน้มที่จะขาดปัจจัยพื้นฐานในการปฏิบัติภารกิจ ก็จะถูกมองว่า บุคคลนั้น อาจไม่ได้สบายดี หรือมีความสุขจากการมีรายได้สูงของเขา เป็นต้น

นอกจากนี้ แนวคิดอรรถประโยชน์ประสบการณ์ หรือ Experienced Utility ที่เสนอโดย Daniel Kahneman ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนประเด็นการวัดและประเมินเรื่องความสุข และสิ่งที่เป็นนามธรรม ด้วยการพัฒนาหลักพฤติกรรมทางจิตวิทยา ได้แก่ การปรารถนา (Aspiration) ความคาดหวัง (Adaptation) และการเปรียบเทียบกับสังคม (Social Comparison) กับแนวคิดจากอรรถประโยชน์ (Utility) โดยมีข้อสมมติฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญว่า การคิดวิเคราะห์เป็นช่วงเวลา (duration) และความไม่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา (Time Neutrality) ตัวอย่างเช่น ในสองเหตุการณ์ที่มีช่วงเวลาเท่าๆ กัน แม้ว่าเหตุการณ์ที่หนึ่ง จะเกิดเรื่องที่ไม่ดีก่อน แล้วเกิดเรื่องที่ดีตามมา ก็ไม่ได้หมายความว่า โดยรวมแล้วเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ดี และขณะที่เหตุการณ์ที่สอง แม้จะเกิดเรื่องดีก่อนแล้วเกิดเรื่องที่ไม่ดี ก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ดี เพราะถ้าทำการวัดประเมินอรรถประโยชน์โดยรวม ในแต่ละจุดของเวลาในทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าว แล้วพบว่า อรรถประโยชน์โดยรวมเท่ากัน เมื่อนั้น อรรถประโยชน์ของทั้งสองเหตุการณ์จึงไม่แตกต่างกันตามช่วงเวลานั่นเอง

ในส่วนของทฤษฎีพุทธเศรษฐศาสตร์ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดที่มองความสุข จากการลดความทุกข์ หรือเหตุแห่งความทุกข์ โดยใช้หลักมัชฌิมาปฏิปทาทางพุทธศาสนา จุดเด่นของแนวคิดนี้จะกล่าวถึงการดำรงชีวิตอย่างพอประมาณและมีเหตุผล โดย “ปัญญา” เป็นหลักการที่สำคัญของการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขภายใต้แนวคิดของพุทธเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ “พุทธเศรษฐศาสตร์ยอมรับความสุขจากการเสพ แต่จะต้องเป็นการเสพด้วยความสำรวมคือ ต้องไม่เบียดเบียนตนเองและไม่เบียดเบียนผู้อื่น (เช่นเดียวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง)” (อภิชัย พันธเสน, 2548) ขณะที่แนวคิดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) จะมีความเชื่อเบื้องหลังที่ว่า ความสุขคือเป้าหมาย หรือความต้องการสูงสุดในชีวิตของมนุษย์แต่ละคน ดังนั้น ถ้าการพัฒนาประเทศจะเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางแล้ว การพัฒนาก็ควรจะนำไปสู่การบรรลุความพึงพอใจของมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยแนวคิดนี้ มี 4 หลักการที่สำคัญ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืนและเสมอภาค, การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, การรักษาและส่งเสริมวัฒนธรรม และการส่งเสริมการปกครองที่ดี

ประเด็นการวัดและประเมิน (Measurement) นั้น Robert A. Cummins ได้เสนอแนวคิดที่ว่า คุณภาพชีวิตที่ดีประกอบด้วยเงื่อนไขทางวัตถุวิสัย (Objective conditions) และมุมมองทางอัตวิสัย (Subjective perceptions) โดยความอยู่ดีมีสุขทางอัตวิสัยเป็นสภาวะทางจิตใจที่เป็นบวก และเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของชีวิตทั้งหมดที่สามารถให้ค่าคะแนนออกเป็นจำนวนระดับความพึงพอใจของชีวิตโดยรวมจากปัจจัยทั้งหมด (Domains) ส่วนวิธีการหรือเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการวัดประเมินการศึกษาเรื่องความสุข และความพึงพอใจ ก็คือ วิธีการรายงานด้วยตนเอง หรือ Self-Report method เป็นการสอบถามความรู้สึกพึงพอใจ หรือความสุขของบุคคลในระดับต่างๆ เช่น 1-3, 1-4, 1-5, 1-7, 1-10 หรือ 1-11 จากลำดับความไม่พึงพอใจสูงสุด คือ “1” ไปถึงลำดับความพึงพอใจสูงสุด ไม่ว่าจะเป็น “3”, “4”, “5”, “7”, “10” หรือ “11” วิธีการศึกษานี้ ได้รับการสนับสนุนจากการทดลองทางจิตวิทยาถึงความมีเสถียรภาพของผลการรายงานความพึงพอใจของบุคคล

ขณะนี้ได้มีความพยายามจากหลายองค์กรในการศึกษาพัฒนาวิธีการวัดประเมินสิ่งที่เป็นนามธรรมในประเด็นต่างๆ อาทิเช่น องค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ที่ทำการศึกษาเรื่อง การวัดความก้าวหน้าของสังคม หรือ “Measuring the Progress of Societies”, คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UNESCAP) ก็ได้มีการนำเสนอประเด็นเรื่อง “Green Growth Concept” และสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ที่เสนอเรื่อง “Green and Happiness Index” เป็นต้น

(ติดตามตอนต่อไป ปัจจัยที่นำไปสู่การมีความสุขกับนโยบายสาธารณะ)

ทัศนะจากนานาชาติเรื่องความสุข: บทสรุปจากการประชุมเรื่อง ความสุขและนโยบายสาธารณะ (ตอนที่ 1)

โดย กนกพร นิตย์นิธิพฤทธิ์
สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ (สพน.)
สำนักนายกรัฐมนตรี
“ความสุข” เป็นคำง่ายๆ แต่กลับมีความซับซ้อนในการนิยามให้ครอบคลุม เพราะความสุขมีความเป็นนามธรรม และแตกต่างกันตามบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม ความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนไขว่คว้า ซึ่งภายหลังจากการใช้นโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยอิงหลักรายได้ และตัวชี้วัดเชิงปริมาณ กลับพบว่า ไม่สามารถสะท้อนประเด็นเรื่องความพึงพอใจในชีวิต (Life Satisfaction) ของคนได้เท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยอิงประเด็นเรื่องความสุขของประชาชน อาทิเช่น Gross National Happiness (GNH) ของภูฏาน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ ๑๐ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขในสังคมไทย แนวคิดและการศึกษาเรื่องความสุขได้มีการพัฒนาออกไปเป็นวงกว้าง ทั้งในประเทศแถบตะวันตกและตะวันออก จากพัฒนาการที่ได้เปลี่ยนผ่านจากเดิมที่ใช้แนวการคิดวิเคราะห์เพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งมาเป็นการวิเคราะห์โดยองค์รวม กล่าวคือ มีความพยายามผสมผสานแนวคิดทางจิตวิทยามาช่วยในการอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในงานศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ หรือการนำแนวคิดทางประสาทวิทยา (Neuroscience) มาช่วยอธิบายความเป็นนามธรรมของความสุข ให้มีความเป็นรูปธรรม และมีความเป็นวิทยาศาสตร์และมีหลักการมากขึ้น

จากพัฒนาการต่างๆ ในงานศึกษาทางวิชาการ ได้นำไปสู่ความตื่นตัวเพื่อผลักดันนโยบายที่มีผลต่อความสุขของประชาชน โดยประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงเกิดความพยายามในการพัฒนาตัวชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขของสังคมไทย (Green and Happiness Index) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ที่หวังผลมากกว่าแค่การวัดและประเมินความสุขของประชาชน หากแต่ยังหวังถึงการผลักดันด้านนโยบายที่จะนำไปสู่การมีสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุข หรือการประชุมนานาชาติเรื่องความสุขและนโยบายสาธารณะ (Happiness and Public Policy International Conference) ที่จัดขึ้นในวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2550 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (UNCC) ของสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UNESCAP) และภาคีอื่นๆ เช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT), องค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเป้าหมายหลักของการประชุมในครั้งนี้ ก็คือ ความพยายามพัฒนาและต่อยอดประเด็นคุณภาพของนโยบาย ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดทางวิชาการ

ประเด็นสำคัญที่ได้รับจากการประชุมนานาชาติในครั้งนี้ สามารถแบ่งภายใต้ข้อคำถามสำคัญได้แก่
1. ทำไมความสุขจึงสำคัญ
2. ความสุขคืออะไร และวัดประเมินได้อย่างไร
3. อะไรสามารถนำไปสู่การเพิ่มและพัฒนาของสุขของประชาชน และทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้ประชาชนมีความสุขได้

โดยในบทความนี้จะกล่าวเพียงแค่ว่า ทำไมเราจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความสุข เพราะสัจธรรมหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ ความสุข หรือการลดความทุกข์เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ เทคโนโลยีสารสนเทศถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ สิ่งแวดล้อมถูกนำมาใช้เพื่อการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด ดูเหมือนว่า ประชาชนน่าจะมีความสุขมากขึ้นจากระบบบริโภคนิยม (Consumerism) แต่ในความเป็นจริง ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุต่างๆ ไม่อาจเข้าถึงประเด็นเรื่องจิตใจของประชาชนได้เท่าที่ควร และแม้ว่ารัฐบาลหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายโดยตรงเองก็หวังอยากให้ประชาชนของตนมีความสุข และบรรเทาความทุกข์ให้กับประชาชน หากแต่ “ความสุข” เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนดั่งที่ได้กล่าวในข้างต้น ประกอบกับการไม่เข้าใจถึงนิยามของความสุขที่แท้จริง และไม่มีเครื่องมือที่ดีพอในการวัดและประเมินผลของนโยบายในเชิงนามธรรม “รายได้” จึงเป็นเสมือนตัวแทนสำคัญเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกใช้วัดประเมินความอยู่ดีมีสุข (Well-Being) ภายใต้แนวคิดที่ว่า การบริโภคที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขที่มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน พัฒนาการในการวัดประเมินประเด็นที่เป็นนามธรรมก็ได้รับการช่วยเหลือจากการศึกษาทางจิตวิทยา ร่วมกับการใช้ระบบการคิดวิเคราะห์แบบองค์รวมในงานศึกษาเพิ่มขึ้น จึงทำให้การศึกษาเรื่องความสุขได้รับความสนใจและมีความเป็นไปได้อย่างมากในปัจจุบัน และจากเหตุผลในข้างต้นนี้ ทำให้สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ (สพน.) จัดทำโครงการศึกษาและจัดประชุมนานาชาติ เรื่องความสุขและนโยบายสาธารณะขึ้น เพื่อพัฒนา และเพิ่มพูนคุณภาพของนโยบายสาธารณะต่อไป

(ติดตามตอนต่อไป ความสุขคืออะไร และวัดประเมินได้อย่างไร)