Friday, March 13, 2009

มุมมองความสุขจากโลกตะวันตก

โดย กนกพร นิตย์นิธิพฤทธิ์

งานศึกษาที่ผ่านมา ความสุข (Happiness) ถูกศึกษาและเรียกแทนว่า Subjective well-being หรือ ความกินดีอยู่ดีเชิงอัตวิสัย ในมุมมองทางจิตวิทยา เราสามารถมองความสุขใน 2 มุมมอง คือ อารมณ์ความรู้สึก (Affect) และการเรียนรู้ (Cognition) โดยในส่วนของอารมณ์ความรู้สึก (Affect) จะเป็นการมองแบบปฏิกิริยาทางอารมณ์เมื่อคนแสดงออกและสิ่งนั้นถูกเรียกว่า พฤติกรรมของการมีความสุข โดยสิ่งนี้จะเกี่ยวข้องกับอารมณ์ (emotions) และสภาวะทางอารมณ์ (moods) ซึ่งเป็นประสบการณ์ชั่วคราว (Temporal Experience) ขณะที่ การเรียนรู้ (Cognition) คือกระบวนการตีความเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการออกทางอารมณ์ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ หรือสถานการณ์นั้นๆ โดยการตีความของบุคคลนี้ จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เนื่องจากขึ้นอยู่กับประสบการณ์เบื้องหลังของคนแต่ละคนที่ทำให้เขาเหล่านั้นเรียนรู้เหตุการณ์/สถานการณ์เดียวกันกับการตีความคล้ายกันหรือแตกต่างกันออกไป และสิ่งนี้เองที่ทำให้คนแต่ละคนแสดงออกในอารมณ์ความรู้สึกที่ยินดี/พึงพอใจ/มีความสุข หรือไม่ยินดี/ไม่พึงพอใจ/มีความทุกข์ต่อสถานการณ์หรือเหตุการณ์เดียวกันแตกต่างกัน ดังนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า กระบวนการเรียนรู้ (Cognition) เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการแสดงออกทางอารมณ์ของแต่ละคน (Affect)

ในการศึกษาของ Frey และ Stutzer ในปี 2545 ได้แบ่งการอธิบายความสุข ใน 2 รูปแบบ คือ ความสุขแบบภาวะวิสัย (Objective Happiness) และความสุขแบบอัตวิสัย (Subjective Happiness) ตามกลไกความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของความสุขทั้งสองรูปแบบนี้ (ดังรูปด้านล่าง)


อ้างอิงจาก Frey และ Stutzer (2002), หน้า 4

ความสุขแบบภาวะวิสัยเป็นการวัดความสุขจากวิธีการวัดของสรีรวิทยา เช่น การวัดคลื่นความถี่ของสมอง อัตราการเต้นของหัวใจ แนวคิดนี้จะใกล้เคียงกับแนวคิด hedonometer ที่เป็นการวัดอรรถประโยชน์แบบหน่วยนับ (Cardinal Utility) ขณะที่การวัดความสุขแบบอัตวิสัยจะใช้วิธีการทางจิตวิทยา ที่เรียกว่า การประเมินตนเองในภาพรวม (Global Self-Report) เป็นวิธีการประเมินความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตของคนแต่ละคนด้วยตนเองว่า ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่ผ่านมา เขาคิดว่า ตัวเองมีความพึงพอใจ/มีความสุขต่อชีวิตในภาพรวม/ประเด็นต่างๆ อย่างไร โดยความสุขในสองรูปแบบนี้ จะมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอยู่ เพราะมนุษย์เราจะมีกระบวนการเรียนรู้ต่อเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ต่างๆ ว่า เหตุการณ์/สถานการณ์ใดที่ทำให้เรามีความสุข แล้วเราจะแสดงออกหรือมีปฏิกิริยาทางอารมณ์ต่อเหตุการณ์/สถานการณ์่นั้นว่า เรามีความสุข โดยการยิ้ม หัวเราะ ขณะเดียวกัน สถานการณ์/เหตุการณ์ที่ทำให้เรายิ้ม หัวเราะ หรือพึงพอใจนั้น ก็จะทำให้เราเรียนรู้ว่า สถานการณ์/เหตุการณ์แบบนั้น ได้ทำให้เรามีความพึงพอใจ มีความสุข เป็นต้น โดยเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่ถูกใช้ในการวัดประเมินที่เหตุการณ์/สถานการณ์ต่างๆ เรียกว่า Experienced Sampling Measure คือ การสอบถามความพึงพอใจต่อกิจกรรม/เหตุการณ์/สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงจุดเวลาหนึ่งๆ ว่า คุณมีความพึงพอใจต่อกิจกรรม/เหตุการณ์/สถานการณ์นั้นๆ มากน้อยเพียงใด ในบางครั้ง อาจมีการเรียกวิธีการนี้ในชื่อเรียกอื่นๆ เช่น Day Reconstruction Method

นอกจากนี้ กลไกทางจิตวิทยาได้เข้ามามีบทบาทในการอธิบายความสุข การกินดีอยู่ดีเชิงอัตวิสัย ประกอบด้วย

- ความคาดหวัง (Aspiration) หรือที่เรียกว่า Satisfaction Treadmill อธิบายว่า การรายงานความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตจะมีความสัมพันธ์ที่ผกผันกับระดับความคาดหวัง

- การปรับตัว หรือความสามารถในการปรับตัว (Adaptation) อธิบายว่า ความสามารถในการปรับตัวของบุคคลต่อสถานการณ์/เหตุการณ์ต่างๆ ได้ดีนั้น จะช่วยให้เราความสามารถในการปรับระดับความพึงพอใจในชีวิตได้ดีเช่นกัน

- การเปรียบเทียบกับสังคม (Social Comparison) คือ ความพยายามอธิบายเชิงสัมพัทธ์ (Relative) ว่า คนจะมีการเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ กับผู้อื่นที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันเสมอ ดังนั้น บางสถานการณ์ดีๆ เช่น การได้ปรับขึ้นเงินเดือนนั้น อาจจะทำให้เรามีความสุขที่เพิ่มขึ้นไม่มาก หากจำนวนเงินเดือนที่ปรับขึ้นของเรานั้น น้อยกว่าคนอื่นๆ เป็นต้น